ไขข้อข้องใจโรคอีสุกอีไส

โรคอีสุกอีใสคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด

โรคอีสุกอีใส (Chicken pox) เป็นโรคติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า Varicella zoster โดยเชื้อจะก่อให้เกิดโรคจากรับเชื้อเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้นหรือภูมิต่ำลง เชื้อที่หลบซ่อนจะเจริญขึ้นใหม่กลายเป็นโรคงูสวัด

โรคอีสุกอีใส ติดต่อกันด้วยวิธีใด

เชื้อไวรัสชนิดนี้ จะอยู่ในตุ่มน้ำของผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใส และงูสวัด ในน้ำลายและเสมหะ และละอองลมหายใจ ของผู้ที่เป็นสุขใส ติดต่อได้จาก

  • สัมผัสตุ่มน้ำโดยตรง
  • สัมผัสอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม ของผู้ป่วย
  • สัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วยเช่น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได ลูกบิดประตู เป็นต้น
  • การสูดเอาละอองน้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย หรือไอจามรดกัน
  • การสูดอากาศที่เชื้อสามารถลอยในบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่รัศมี 1เมตร โดยไม่ต้องมีการไอหรือจาม

อาการของสุกใสเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงนำคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร 2 – 3 วัน ก่อนผื่นขึ้น ผื่นจะเริ่มขึ้นบริเวณใบหน้าและศีรษะตามมาที่ลำตัว ส่วนแขน ขา จะพบได้น้อยกว่า ลักษณะผื่นเริ่มแรกจะเป็นตุ่มแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และตกสะเก็ดอย่างรวดเร็วภายใน 12 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนแล้วยังสามารถติดเชื้อได้เมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรค แต่จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า

รักษาได้หรือไม่ อย่างไร

รักษาได้ ในกรณีที่ผุ้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถปล่อยให้ผื่นหายเองได้ โดยให้พัก ให้ยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ให้ยารับประทานแก้คันกลุ่ม ยาต้านฮีสตามีน หรือให้ยาทากลุ่มยาฆ่าเชื้อในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรก

การรักษา

ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรักษาที่บ้านโดยต้องดูแลเรื่องไข้ และผื่น

  • ไข้ ให้ใช้ พาราเซ็ตตามอล (paracetamol) ในการลดไข้ ห้ามใช้แอสไพริน (aspirin) ในการลดไข้ เพราะอาจจะทำให้เกิด Reye’syndrome (กลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและตับ ผู้ป่วยมักอาเจียนอย่างต่อเนื่อง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว หรือหมดสติ บางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต)
  • บรรเทาอาการคันโดยใช้ผ้าก๊อซ (gauze) ชุบน้ำเกลือล้างแผลปิดแผล หรืออาบน้ำทุก 4 ชั่วโมง แล้วซับให้แห้ง สำหรับเด็กต้องตัดเล็บให้สั้น

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียสำหรับยารักษาเชื้อไวรัส เช่น Acyclovir ยานี้จะให้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังเกิดผื่นจะให้ในรายที่เป็นไข้สุกใส ซึ่งมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น

  • ผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคมะเร็ง
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ (steroid)
  • ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเรื้อรังและจำเป็นต้องได้รับยาแอสไพริน (aspirin) เป็นประจำ
  • ผู้ป่วยไข้สุกใสในผู้ใหญ่

การหายของโรค เป็นอย่างไร

โดยปกติใช้เวลาประมาณ 10 วัน แต่สามารถไปโรงเรียน หรือไปทำงานในเวลา 7 วัน โรคแทรกซ้อนพบน้อย ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ระยะติดต่อของโรค

ช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้คือ 2 วัน ก่อนเกิดผื่น จนกระทั่งผื่นหาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่จะป้องกันโดยการป้องกันการสัมผัส

หลีกเลี่ยงยาทากลุ่มขี้ผึ้ง หรือยาทาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสุกใส

  • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว ร่วมกับคนอื่น เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อนส้อม เพื่อป้องกันการติดต่อสู่ผู้อื่น
  • ตัดเล็บให้สั้นและงดการแคะ แกะ เกา ตุ่ม เนื่องจากจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ง่าย
  • รักษาสุขอนามัยให้สะอาด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • รับประทานยาหรือทายาบรรเทาอาการคัน ตามคำสั่งแพทย์หรือคำแนะนำของเภสัชกร
  • รับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ เมื่อมีไข้ หลีกเลี่ยงการทานยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้นและอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ โดยเฉพาะในเด็ก
  • หากมีไข้สูงและไข้ไม่ลงใน 2 วัน หลังทานยาลดไข้ หรือมีตุ่มพอง มีหนอง ไอมาก ไอมีเสมหะ ให้พบแพทย์ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง
  • หากมีอาการหายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอกมาก ปวดศีรษะร่วมกับแขน ขา อ่อนแรงหรือชัก ให้รีบพบแพทย์ฉุกเฉินทันที

วิธีป้องกันโรคสุกใส

  • ไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสการติดเชื้อ -ฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส เป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

มีข้อสงสัยกรุณาติดต่อ คลินิกหู คอ จมูก คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา

โทรศัพท์   02-3190909 ต่อ 2309 – 2310 เวลา 08.00 – 19.00 น.

Leave a reply