การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
เป้าหมาย
ให้สามารถดูแลตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้มากที่สุด โดยให้ความช่วยเหลือเฉพาะขั้นตอนที่จำเป็น
หลักการ
1. กระตุ้นให้ทำด้วยตนเองอย่างอิสระมากที่สุดตามศักยภาพ
2. ส่งเสริมให้กระบวนการรับรู้ของผู้ป่วยดีขึ้น
3. ลดขั้นตอนการทำ ไม่ซับซ้อน ชัดเจนเป็นขั้นตอน
4. ทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ
5. มีสัญญาณ ทำสัญลักษณ์ บอกขั้นตอน หรือเวลาการจัดการกับ ปัญหาการทำกิจวัตร ประจำวัน
การล้างหน้า
ไม่สนใจการทำความสะอาดใบหน้า
การจัดการ
– จับมือผู้สูงอายุถู/เช็ดหน้าเอง
– ควรส่องกระจกทุกครั้ง เพื่อสำรวจความเรียบร้อย
– ควรใช้น้ำอุณหภูมิต่างกัน เช่น ล้างครั้งแรกใช้น้ำอุ่น ครั้งต่อไปใช้น้ำเย็น เพื่อกระตุ้นการรับรู้
การดูแลช่องปาก
ลืมถอด/ใส่ฟันปลอม, สับสนขั้นตอนการแปรงฟัน
การจัดการ
– ฟันปลอม หาถ้วยแช่และวางตำแหน่งเดิม
– แปรงฟัน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น เตรียมบีบยาสีฟันพร้อมกับแก้วใส่น้ำ
– ควรกระตุ้นให้จับแปรง หรือแปรงฟันเองบ้างและควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอ
การอาบน้ำ
ลืมอาบน้ำ
การจัดการ
– คงกิจวัตรการอาบน้ำให้เหมือนเดิม (เวลา สถานที่ วิธีอาบน้ำ) หากผู้ป่วยไม่พร้อม อาบควรเลื่อนเวลาออกไปเล็กน้อย
– กระตุ้น ชักจูง โน้มน้าวให้อยากอาบน้ำ โดยหาคนที่ไว้ใจอาบให้
– ใช้สบู่ กลิ่นที่ชอบ ผ้าเช็ดตัวผืนโปรด
– ควรเลือกฝักบัวแบบถอดมาถือได้ สบู่และขันวางเป็นสัดส่วน
– ผู้ดูแลอาจจำเป็นต้องคอยช่วยเหลือในบางขั้นตอน
– ควรใช้มือผู้ป่วยช่วยถูและเช็ดตัวด้วย
– ในกรณีที่จับสบู่ลำบาก อาจใช้ฟองน้ำ ถุงมือถูตัว ใช้สบู่เหลวแทนสบู่ก้อน
การขับถ่าย
ผู้ป่วยไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะต้องใช้ห้องน้ำ
การจัดการ
– จัดเวลาเข้าห้องน้ำให้เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ปัสสาวะก่อนเข้านอน ขับถ่ายตอนเช้า
– จำกัดปริมาณน้ำดื่มก่อนนอน
หาห้องน้ำไม่พบ
การจัดการ
– ทำสัญลักษณ์และป้ายให้ชัดเจน เช่น ลูกศร บอกทาง สติกเกอร์หรือป้ายติดหน้าห้องน้ำ
– สีห้องน้ำให้ต่างจากสีห้องอื่น
– เปิดไฟให้สว่างตลอดทาง
การแต่งตัว
จำไม่ได้ว่าเก็บเสื้อผ้าไว้ที่ไหน ไม่ทราบว่าเสื้อผ้ามีไว้ทำอะไร
การจัดการ
– เตรียมเสื้อผ้าที่สะอาดไว้ให้ใส่อย่างเป็นลำดับ โดยวางตำแหน่งเดิมที่เห็นชัดเจน หยิบสะดวก
– ทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจน
– เรียงลำดับอย่างคงที่ทุกครั้งรวมถึงสถานที่ ห้องที่ใช้แต่งตัว เตรียมให้เลือก 2 – 3 ชุดหรือ จัดเป็นเซ็ท ให้ครั้งละชุด
การรับประทานอาหาร
จำไม่ได้ว่ารับประทานอาหารไปแล้ว
การจัดการ
– ต้องเป็นเวลาประจำ สม่ำเสมอ
– เตือนล่วงหน้าก่อนถึงเวลาอาหาร เช่น กระดิ่ง ออด ตั้งนาฬิกาปลุก
– อาหารบนโต๊ะไม่ควรมีหลายชนิดพร้อมกันบนโต๊ะ ไม่ควรมีของหลากหลาย
เดินหลงทิศทาง
นอกบ้าน
การจัดการ
– รั้วบ้านควรจะมิดชิด เพื่อที่จะแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่สามารถออกไปเองได้
– กรณีบ้านจัดสรร ควรทาสีรั้วหรือประตูบ้านให้แตกต่างจากบ้านอื่น
– เก็บกุญแจให้มิดชิด
– ใส่บัตรประจำตัวไว้ในกระเป๋าผู้ป่วยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน
การนอน
ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน
การจัดการ
– จัดเวลานอนให้คงที่สม่ำเสมอ
– เตือนผู้ป่วยเมื่อถึงเวลานอนอย่างสม่ำเสมอ
– จัดบรรยากาศการนอนให้รู้สึกผ่อนคลาย เงียบสงบ สบายตา
– หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน อาจงีบหลับได้บ้างช่วงหลังอาหารกลางวัน
– พาเดินออกกำลังกายเป็นประจำ ตอนเช้าและ ตอนเย็น
– ทำกิจกรรมนันทนาการ กระตุ้นให้เคลื่อนไหว
มีข้อสงสัยกรุณาติดต่อ คลินิกหู คอ จมูก คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา
โทรศัพท์ 02-3190909 ต่อ 2309 – 2310 เวลา 08.00 – 19.00 น.
Leave a reply